News

ตัวที่สอง LiVEx มาแล้ว !! บมจ.สิทรอน เพาเวอร์ (SITRON) ขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป 12 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 5.50 บาท ได้ฤกษ์เข้าเทรดใน LiVE Exchange ในวันนี้ (14 ธ.ค.65) ด้วยชื่อ SITRON22 ก่อนที่จะมุ่งหน้าก้าวต่อไปแต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 67 เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

SITRON คือใคร ?

SITRON แบ่งรูปแบบการให้บริการของบริษัทออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. การให้บริการด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง และติดตั้ง (Engineering Procurement and Construction : EPC) : ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหาวัสดุอุปกรณ์ ก่อสร้าง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปต่าง ๆ ทั้ง Solar Rooftop Solar Ground Mount และ Solar Floating
  2. การให้บริการด้านวิศวกรรม ก่อสร้าง และติดตั้ง (Balance of System : BOS) : แตกต่างกับแบบ EPC คือ BOS ลูกค้าจะเป็นผู้จัดหาวัสดุอุปกรณ์หลักเอง และบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินการให้บริการออกแบบด้านวิศวกรรม ก่อสร้าง และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
  3. การให้บริการบำรุงรักษา (Operating and Maintenance : O&M) : ให้บริการบำรุงรักษา ปรับปรุง และซ่อมแซมระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยทีมวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์

SITRON กับข้อได้เปรียบทางธุรกิจ

นางสาวประภารัตน์ ตังควัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SITRON เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจเป็นเรื่องของการดีไซน์ โดยเฉพาะลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็น Roof Top การที่จะขึ้นไปติดตั้งบนบ้านหรือโรงงาน ต้องวางแผนค่อนข้างดี ตั้งแต่สำรวจอุปนิสัยการใช้ไฟ ความต้องการที่แท้จริง และต้องดูเรื่องธุรกิจของเขา เพื่อให้ออกมาเป็น Performance ที่ดีที่สุด

อีกส่วนหนึ่งคือเรื่อง Financial Discipline สำคัญมากสำหรับคนทำ EPC เพราะหากมีสภาพคล่องที่ไม่ต่อเนื่องก็ไม่สามารถรับงานได้ Track Record ก็จะไม่ดี ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง

“เทียบกับเจ้าอื่นเราอาจจะดูตัวเล็ก เจ้าอื่นอาจจะทำธุรกิจเกี่ยวกับ EPC มานาน แต่เราเชื่อว่าเราเป็นคนเดียวที่ทำ Solar EPC ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปัจจุบัน เราไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย เราทำอยู่อย่างเดียวเลย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกล่าว

SITRON กับการเติบโต

เทรนด์สำคัญที่จะมาสนับสนุนธุรกิจของบริษัทให้เติบโตมากขึ้น คือเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนมีราคาถูกลง เรียกได้ว่า คนที่ติดและใช้ Solar ก็คุ้มค่าเร็วมากขึ้น จากนั้นเกิดการบอกปากต่อปาก เมื่อโรงงานหนึ่งติดแล้วประสบความสำเร็จ โรงงานอื่นก็ติดตาม

และแรงขับเคลื่อนที่มาจาก Developer รายต่าง ๆ ที่พยายามจะเข้ามาทำตลาดเรื่องของ Private PPA ก็ทำให้ดีมานด์เพิ่มเร็วขึ้น อันนี้เป็นส่วนของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในอนาคตประเมินว่าภาคครัวเรือน (House Hold) ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่น่าสนใจ

“การติดตั้งต่อหน่วยในบ้านจริง ๆ ค่อนข้างแพง เพราะบ้านอยู่กระจายกัน ต้นทุนต่อหน่วยจึงสูง ในอนาคตถ้าเป็น Real Estate Developer ทำเอง ต้นทุนจะลดลงเยอะเลย เพราะยังไงก็ต้องติดตั้งหลังคาอยู่แล้ว ไม่ต้องขอใบอนุญาตใหม่ด้วย ขอตั้งแต่ก่อสร้างไปเลย ลูกบ้านก็น่าจะแฮปปี้เพราะช่วยประหยัดค่าไฟ” นางสาวประภารัตน์กล่าว

SITRON กับแผนระดมทุน

  • ใช้ลงทุนในโครงการระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 28,943,000 บาท
  • ใช้เป็นเงินทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวน 9,648,000 บาท
  • ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน 25,726,640 บาท

SITRON กับทิศทางในอนาคต

ถ้าประเมินปริมาณหลังคาของโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศก็ยังมีมากพอสมควรในการเติบโต 5-6 ปีข้างหน้า คิดว่าเงินระดมทุนราว 40% จะเป็นเงินลงทุนโครงการตรงนี้ และอีก 40% จะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ

“ส่วนที่เหลือราว 10-15% สำคัญมาก เราอยากจะเป็น EPC Solar เจ้าเดียวที่มี R&D เราอยากมี Testing Lab ของตัวเอง อยากมี Inhouse Training, External Training ให้กับผู้ใช้งาน โดยที่ SITRON จะเป็นผู้ Operated ตรงนี้” นางสาวประภารัตน์ กล่าว

ในช่วง 2-3 ปีนี้ SITRON ยังคงโฟกัสในเรื่องของ Solar PV อยู่ หากมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา เช่น การทำให้ติดตั้งในทุกพื้นผิวได้ บริษัทก็จะเป็นเจ้าแรกที่นำเข้ามาใช้

ขณะเดียวกัน SITRON ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา Alternative Energy อื่น ๆ ที่จะสร้าง Efficiency ให้กับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นลดใช้พลังงานในอาคาร หรือ ลดใช้พลังงานในการขนส่งต่าง ๆ และคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า น่าจะเป็นธุรกิจที่เข้ามามีความสำคัญกับ SITRON ในอนาคต

Source: https://www.infoquest.co.th/2022/258531